คลินิกรังสีเทคนิค ศูนย์บริการเทคนิคการแพทย์คลินิก
ให้บริการตรวจทางรังสี ได้แก่ การถ่ายภาพรังสีทรวงอก
การถ่ายภาพรังสีทั่วไปตามใบสั่งตรวจจากแพทย์ และการตรวจด้วยคลื่นเสียงความถี่สูง (Ultrasound wave)
1. การถ่ายภาพรังสีทรวงอก (Chext x-ray)
การถ่ายภาพรังสีทรวงอก (Chext x-ray) การถ่ายภาพรังสีเพื่อดูขนาดของหัวใจ รูปร่างของหัวใจ เงาของหลอดเลือดใหญ่ที่ออกจากหัวใจและพยาธิภายในและหลอดลมข้อบ่งชี้ในการตรวจเอกซเรย์ทรวงอก
+ ตรวจสุขภาพประจำปี (Health Screening)
+ ก่อนรับการผ่าตัด
+ มีอาการชี้ถึงภาวะโรค เช่น ไอ เสมหะมีเลือด เจ็บหน้าอก เป็นต้น
+ ผู้มีอาการทั่วไปไม่จำเพาะ เช่น น้ำหนักลด อ่อนเพลีย ที่อาจเป็นวัณโรคปอดได้
+ ภาวะอื่นๆที่อาจไม่เกี่ยวกับปอด เช่น โรคหัวใจ หรือมะเร็ง ลามมาที่ปอด เป็นต้น
ประโยชน์ของการเอกซเรย์ปอด ได้แก่
+ เพื่อเตรียมผ่าตัด
+ เพื่อหาสาเหตุของอาการผิดปกติของระบบทางเดินหายใจ เพื่อติดตามดูความเป็นไปของโรคที่เกี่ยวกับปอดหรือหัวใจ
+ เพื่อตรวจหามะเร็งในระยะแรกเริ่มที่ปอด เพื่อตรวจหาการแพร่กระจายของโรคมาที่ปอด
+ เพื่อตรวจหาโรค Pneumoniosis (ภาวะปอดมีฝุ่นจับมาก) เพื่อตรวจขนาดของหัวใจ
+ เพื่อตรวจหาความผิดปกติบริเวณปอดและที่อื่นๆ
เอกซเรย์ปอดอันตรายหรือไม่ ส่วนใหญ่มักจะเข้าใจว่าการได้รับรังสีแล้วจะเกิดอันตรายแต่ในความเป็นจริงต้องขึ้นอยู่กับชนิด ปริมาณ และระยะเวลาในการได้รับรังสีด้วย ซึ่งในการเอกซเรย์ปอดครั้งหนึ่ง ผู้ถูกเอกซเรย์จะได้รับปริมาณรังสีเพียง 0.02 เร็มต่อครั้งเท่านั้น ซึ่งเป็นปริมาณรังสีที่ถือว่าปลอดภัย
2. การตรวจด้วยคลื่นเสียงความถี่สูง (Ultrasound wave)
อัลตราซาวนด์ (ultrasound) เป็นการตรวจวิเคราะห์โดยการใช้คลื่นเสียงความถี่สูง โดยมีหลักการคือ การส่งคลื่นเสียงความถี่สูงออกจากเครื่องอัลตราซาวนด์ ผ่านผนังหน้าท้องเข้าไปภายในช่องท้อง เมื่อคลื่นเสียงไปกระทบอวัยวะที่ทึบหรือมีความหนาแน่นแตกต่างกัน ก็จะสะท้อนกลับมาที่เครื่องอัลตราซาวนด์ และแปลงเป็นสัญญาณภาพปรากฏบนจอมอนิเตอร์ ซึ่งสามารถเก็บภาพลงกระดาษ (hard copy) ได้
ปัจจุบันการตรวจด้วยเครื่องมือที่เรียกว่าอัลตราซาวนด์ ถือเป็นการตรวจวินิจฉัยผู้ป่วยที่สำคัญทางรังสีวิทยาวิธีหนึ่ง การตรวจด้วยวิธีนี้จัดเป็นการตรวจที่ไม่ยุ่งยากซับซ้อน สามารถทำได้อย่างรวดเร็ว ไม่ต้องเตรียมผู้ป่วยมากนัก เครื่องมือหาได้ง่าย ข้อมูลที่ได้จากการตรวจด้วยวิธีนี้แม้จะไม่มากเท่าเอกซเรย์คอมพิวเตอร์ แต่ก็ทำให้แพทย์สามารถรักษาผู้ป่วยส่วนใหญ่เบื้องต้นได้ โดยเฉพาะโรคในช่องท้อง
การนำมาใช้เพื่อช่วยวินิจฉัยโรค คลื่นเสียงความถี่สูงสามารถใช้ตรวจส่วนต่างๆ ของร่างกาย ได้แก่
1. ส่วนหัว ใช้ตรวจเด็กเล็กอายุน้อยกว่า 2 ปี เพื่อตรวจดูความผิดปกติในกะโหลกศีรษะ โดยตรวจผ่านกระหม่อมที่ยังไม่ปิด
2. ส่วนคอ ใช้ตรวจหาความผิดปกติและหารอยโรคของต่อมไทรอยด์, ต่อมน้ำลาย, ก้อนในบริเวณคอ และใช้ตรวจเส้นเลือดแดงคาโรติด
3. ส่วนอก ใช้ตรวจทรวงอก เพื่อดูน้ำในช่องเยื่อหุ้มปอด หรือตรวจดูรอยโรคว่า เป็นเนื้อหรือน้ำติดกับผนังทรวงอก เช่น เนื้องอก
4. ช่องท้อง ใช้ตรวจดูความผิดปกติและหารอยโรคของอวัยวะภายในช่องท้องทั้งหมด
5. ส่วนอื่นๆ ใช้ตรวจเพื่อหาความผิดปกติและรอยโรคที่สงสัยในอวัยวะส่วนอื่นๆ ที่เป็นเนื้อเยื่ออ่อน หรือมีน้ำภายใน เช่น กล้ามเนื้อ นอกจากนี้ยังสามารถตรวจเต้านม ขา เส้นเลือดขนาดใหญ่และขนาดกลาง เพื่อดูความผิดปกติของเส้นเลือด วัดความเร็วการไหลเวียนเส้นเลือด ดูการ อุดตันของเส้นเลือด